เพราะทำกรรมอะไร? จึงเป็นคนหลังค่อม และเป็นคนรับใช้

บุรพกรรมของนางขุชชุตตรา

เมื่อพระศาสดาตรัสอย่างนั้นแล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงทูลถามพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางขุชชุตตราเล่า
เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นหญิงค่อม,
เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นผู้มีปัญญามาก,
เพราะกรรมอะไร? จึงบรรลุโสดาปัตติผล,
เพราะกรรมอะไร? จึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น.”


พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่พระราชาองค์นั้นแลครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์นั้นเหมือนกัน ได้เป็นผู้มีธาตุแห่งคนค่อมหน่อยหนึ่ง. ลำดับนั้น หญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนหนึ่งห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม แสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้และอย่างนี้.” เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม.


อนึ่ง ในวันแรกพระราชาทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ให้นั่งในพระราชมณเฑียรแล้ว ให้ราชบุรุษรับบาตร บรรจุบาตรให้เต็มด้วยข้าวปายาสแล้วรับสั่งให้ถวาย.

พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ต้องผลัดเปลี่ยน (มือ) บ่อยๆ. หญิงนั้นเห็นท่านทำอยู่อย่างนั้น ก็ถวายวลัยงา ๘ วลัย ซึ่งเป็นของของตน กล่าวว่า “ท่านจงวางไว้บนวลัยนี้แล้วถือเอา.” พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทำอย่างนั้นแล้ว. แลดูหญิงนั้น.

นางทราบความประสงค์ของท่านทั้งหลาย จึงกล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ดิฉันหามีความต้องการวลัยเหล่านี้ไม่, ดิฉันบริจาควลัยเหล่านั้นแล้วแก่ท่านทั้งหลายนั่นแล, ขอท่านจงรับไป.” พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับแล้ว ได้ไปยังเงื้อมเขาชื่อนันทมูลกะ.
แม้ทุกวันนี้ วลัยเหล่านั้นก็ยังดีๆ อยู่นั่นเอง.
เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้ นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก. เพราะผลอันไหลออกแห่งการอุปัฏฐาก ซึ่งนางทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล.
นี้เป็นบุรพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง.


ส่วนในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ธิดาของเศรษฐีในกรุงพาราณสีคนหนึ่ง จับแว่นนั่งแต่งตัวอยู่ในเวลามีเงาเจริญ (เวลาบ่าย). ลำดับนั้น นางภิกษุณีขีณาสพรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้ไปเพื่อเยี่ยมนาง. จริงอยู่ นางภิกษุณี แม้เป็นพระขีณาสพ ก็เป็นผู้ปรารถนาเพื่อจะเห็นตระกูลอุปัฏฐากในเวลาเย็น.
ก็ในขณะนั้น หญิงรับใช้ไรๆ ในสำนักของธิดาเศรษฐีไม่มีเลย. นางจึงกล่าวว่า “ดิฉันไหว้ เจ้าข้า โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั่น ให้แก่ดิฉันก่อน.”

พระเถรีคิดว่า “ถ้าเราจักไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นางไซร้, นางจักทำความอาฆาตในเราแล้ว บังเกิดในนรก, แต่ว่า ถ้าเราจัก (หยิบ) ให้, นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น, แต่ว่า เพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่น ย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรกแล.”

พระเถรีนั้นอาศัยความเอ็นดู จึงได้หยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่นาง. เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น.