ประวัติหลวงปู่สี พระเถราจารย์ 7 แผ่นดิน

หลวงปู่สี ฉันทสิริ วัดเขาถ้ำบุญนาค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ พระเกจิสายวิปัสสนาชื่อดังของจังหวัดนครสวรรค์ที่มีอายุยืนยาวถึง 128 ปี เป็น “พระอริยเถราจารย์ 7 แผ่นดิน” ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงรัชกาลที่ 9 พระเกจิผู้ทรงวิทยาอาคมแก่กล้า มีอภิญญาสูงส่ง ถือสมถะ สันโดษ มีเมตตาบารมีช่วยเหลือญาติโยมและผู้ตกทุกข์ได้ยากที่มาพึ่งพาอย่างสม่ำเสมอ และท่านก็ไม่เคยสำแดงหรือเอ่ยอ้างอิทธิฤทธิ์

แต่จากประสบการณ์ที่ผู้ศรัทธาและบรรดาลูกศิษย์ลูกหาได้ประจักษ์แจ้งนั้น สร้างให้ชื่อเสียงขจรไกล เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวเมืองนครสวรรค์ รวมทั้งพุทธศาสนิกชนที่ทราบถึงกิตติศัพท์ วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังของท่านก็ล้วนทรงพุทธาคมเข้มขลังเป็นที่ปรากฏแก่ผู้บูชา ทั้งอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาด และเมตตามหานิยม เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างสูง ทำให้ค่านิยมสูงขึ้นตามกาลเวลา

หลวงปู่สี เป็นชาว อ.รัตนะ จ.สุรินทร์ เดิมชื่อ สี เมื่อมีการใช้นามสกุลตระกูลของท่านใช้นามสกุลว่า ‘ดำริ’ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2392 ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ในวัยเด็กติดตามบิดาออกล่าสัตว์เป็นอาหารและเก็บของป่าขาย อายุได้ 11 ปี บิดาได้นำไปฝากกับพระอาจารย์อินทร์ พระธุดงค์ซึ่งเป็นสหายเก่า ท่านจึงติดตามพระอาจารย์อินทร์ออกธุดงค์ไปด้วยกัน จากป่าดงดิบ จ.สุรินทร์ กระทั่งมาถึงพระนคร (กรุงเทพมหานคร) ในปี พ.ศ.2403 จากนั้นได้พาเข้ากราบนมัสการ ‘ขรัวโต’ พระสหธรรรมิกซึ่งเป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน คือ หลวงตาแสง หรือ ‘ขรัวแสง’ พระเกจิดังแห่งลพบุรี ซึ่งก็คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์เป็น ‘พระเทพกวี’

สมเด็จฯ โต ได้สั่งสอนธรรมะและถ่ายทอดวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อักขระขอม ไทย และคาถาอาคม รวมทั้งการปฏิบัติสมาธิจิตจนแตกฉาน พอปี พ.ศ.2407 มีการบวชพระและเณรจำนวน 108 รูป เพื่อฉลองสมณศักดิ์เป็น ‘สมเด็จพุฒาจารย์’ หลวงปู่สีซึ่งขณะนั้นอายุ 15 ปี ก็ได้บวชเป็นหนึ่งในสามเณรด้วย โดย สมเด็จฯ โต เป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่วัดระฆังฯ เพื่อศึกษาวิชากับสมเด็จฯ โต อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการทำ ‘ผงวิเศษทั้งห้า’ อันศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2411 พระอาจารย์อินทร์กลับจากธุดงค์แวะเยี่ยมสมเด็จฯ โต สามเณรสีจึงขออนุญาตตามพระอาจารย์อินทร์กลับไปเยี่ยมโยมบิดามารดา เมื่อกลับไปเห็นครอบครัวมีความยากลำบาก จึงขออนุญาตพระอาจารย์อินทร์สึกออกมาช่วยเหลือครอบครัว

เมื่อพระอาจารย์อินทร์ตรวจดวงชะตาแล้วว่าท่านต้องเกี่ยวพันกับทางโลก เมื่อพ้นภาวะกรรม จึงจะบวชไม่สึกและสำเร็จในบั้นปลาย จึงให้สึกตามคำขอท่านใช้ชีวิตในวัยหนุ่มอย่างโชกโชน จนอายุได้ 39 ปี ก็เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก จึงตัดสินใจอุปสมบทที่วัดบ้านเส้า ซึ่งอยู่ใน อ.บ้านหมี่ปัจจุบัน โดยมี พระครูธรรมขันธ์สุนทร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา ‘ฉันทสิริ’ จำพรรษาได้ระยะหนึ่งจึงออกธุดงค์มาจำพรรษาที่ถ้ำเขาไม้เสียบ ต.ช่องแค จ.นครสวรรค์ ฝึกวิปัสสนากรรมฐานเป็นเวลา 3 ปี เพื่อฝึกจิตวิปัสสนากรรมฐานจนเห็นสมควรแก่เวลา จึงออกจากถ้ำเพื่อธุดงค์ต่อไปยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย รวมทั้งประเทศลาว ประเทศพม่าเลยไปประเทศอินเดีย

เกือบตลอดระยะเวลาที่ท่านบวช ได้ไปสักการะสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนามากมาย พบพานพระเกจิชื่อดังหลายต่อหลายรูป พระสหธรรมิกที่มีความสนิทสนมได้สนทนาธรรมและแลกเปลี่ยนสรรพวิชากัน มีอาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า, หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ และหลวงพ่อปาน วัดคลองด่าน ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของพระอริยสงฆ์ชื่อดังหลายรูป เช่น หลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่, หลวงปู่บุดดา วัดกลางชูศรีเจริญสุข จ.ชัยนาท และหลวงปู่เย็น วัดสระเปรียญ จ.ชัยนาท เป็นต้น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ยังได้กล่าวว่า ‘กราบฉันแสนครั้ง ยังไม่เท่าได้กราบหลวงปู่สีครั้งเดียว’ และมักไปมาหาสู่หลวงปู่สีอยู่เป็นนิจ จนอายุได้ประมาณ 90 ปี

ท่านได้สร้างวัดหนองลมพุก อ.โนนสังข์ จ.อุดรธานี และอยู่จำพรรษามาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ.2512 ท่านพระครูนิวิฐปริยัติคุณ (พระอาจารย์สมบูรณ์) อดีตเจ้าอาวาสวัดเขาถ้ำบุญนาค จึงนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัดเขาถ้ำบุญนาค ซึ่งขณะนั้นเป็นสำนักสงฆ์เล็กๆ จนเจริญรุ่งเรืองสืบมา ด้วยหลวงปู่สีเป็นพระสมถะ ไม่ยึดติดความสะดวกสบาย ท่านจึงคงอยู่ที่กุฏิไม้เก่าๆ หลังเล็กๆ ไม่ยอมย้ายไปกุฏิหลังใหม่ที่อดีตเจ้าอาวาสตั้งใจสร้างให้ จวบจนมรณภาพเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2520 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) สิริอายุ 128 ปี 89 พรรษา บรรดาศิษยานุศิษย์จึงได้อัญเชิญสรีระของท่านซึ่งไม่เน่าเปื่อยบรรจุในโลงแก้ว แล้วประดิษฐานไว้ที่กุฏิหลังใหม่ เพื่อให้สาธุชนได้ไปกราบไหว้บูชา

สิ่งอัศจรรย์ยิ่งอีกประการคือ เล็บมือ เล็บเท้า และผมของท่านนั้น ยังงอกยาวออกมาเช่นผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทางวัดจะต้องเปิดโลงแก้วทุกๆ 15 วัน เพื่อปลงผมและตัดเล็บให้ท่านตลอดมา และในทุกปีเมื่อครบวันมรณภาพก็จะมาร่วมกันทำพิธีสรงน้ำและเปลี่ยนผ้าสบงจีวรให้เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลทุกรุ่นของหลวงปู่สี ซึ่งมีไม่มากนักนั้น ล้วนสร้างด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะสมทบทุนในการก่อสร้างบูรณะอุโบสถและเสนาสนะภายในวัดทั้งสิ้น

ประการสำคัญคือ ท่านจะประกอบพิธีปลุกเสกเดี่ยวเท่านั้น ด้วยพลังจิตอันแก่กล้าจึงมั่นใจได้ถึงความเข้มขลังและทรงพุทธคุณเป็นเลิศรอบด้าน เป็นที่นิยมและแสวงหาอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “เหรียญรูปเหมือน รุ่น อายุยืน (เต็มองค์) ปี 17” อันถือเป็นเหรียญยุคใหม่ที่สร้างประสบการณ์มากมาย จนติดอันดับเหรียญยอดนิยมของเมืองปากน้ำโพ และที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ชานหมาก” ที่ท่านเคี้ยวแล้วนำมาใช้จีวรห่อให้ญาติโยมนั้น ถือเป็นสิริมงคลและปกป้องภยันตรายนานัปการแก่ผู้บูชา